งานวิจัย ตู้อบแห้งด้วยความร้อนร่วมแสงอาทิตย์และแก๊สชีวภาพ


ตู้อบแห้งด้วยความร้อนร่วมแสงอาทิตย์และแก๊สชีวภาพ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและพัฒนาตู้อบแห้งที่ใช้พลังงานความร้อนร่วมจากแสงอาทิตย์และแก๊สชีวภาพ ศึกษาประสิทธิภาพการอบแห้ง และศึกษาผลตอบแทน เชิงเศรษฐศาสตร์ของตู้อบแห้งด้วยความร้อนร่วมแสงอาทิตย์และแก๊สชีวภาพ ออกแบบและสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ความจุขนาด 12 ตารางเมตร มีท่อลมร้อนจากพลังงานแก๊สชีวภาพเข้าสู่ตู้อบแห้ง โดยพาความร้อนด้วยพัดลมระบายอากาศกระแสตรง และอีกส่วนคือบ่อหมักแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ความจุประมาณ 8 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้เป็นพลังงานทดแทนในการอบแห้งต่อเนื่องหลังจากสิ้นแสงอาทิตย์ โดยออกแบบให้สามารถอบกล้วยน้ำว้าสุกได้ครั้งละ 12 กิโลกรัมให้มีความชื้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25% (wb) ผลการวิจัย พบว่า อบกล้วยน้ำว้าสุกน้ำหนัก 12.12 กิโลกรัมค่าความชื้น 62.5% (wb) ด้วยตู้อบแห้งใช้ ความร้อนจากแสงอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 08:00 น.ถึง 16:00 น. ในช่วงวันที่สภาพอากาศปลอดโปร่งทั้งวัน สามารถเพิ่มอุณหภูมิภายในได้ 25-35 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเท่ากับ 64 องศาเซลเซียส และใช้ลมร้อนจากแก๊สชีวภาพตั้งแต่เวลา 16:01 น. ถึง 20:00 น. ซึ่งใช้ปริมาณแก๊สชีวภาพเฉลี่ย 1,085 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 วัน กล้วยที่ผ่านการอบแห้งมีน้ำหนักคงเหลือเฉลี่ยเท่ากับ 4.79 กิโลกรัม มีค่าความชื้นเฉลี่ยเท่ากับ 24.72% (wb) อัตราการระเหยของน้ำเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 0.203 กิโลกรัมต่อตารางเมตรต่อวัน ผลการวิเคราะห์ เชิงเศรษฐศาสตร์ของตู้อบแห้งด้วยความร้อนร่วมแสงอาทิตย์และแก๊สชีวภาพ โดยเปรียบเทียบจากรายจ่ายต่อปีกับกำลังการผลิต 4.79 กิโลกรัมต่อครั้ง สามารถผลิตได้ 80 ครั้งต่อปี ราคากล้วยอบแห้งที่ขายตามท้องตลาด 100 บาทต่อกิโลกรัม ระยะเวลาในการคืนทุนของตู้อบแห้งด้วยความร้อนร่วมแสงอาทิตย์และ แก๊สชีวภาพเท่ากับ 2.52 ปี

ทุนวิจัยงบแผ่นดิน
สถาบันวิจัยและพัฒนา
-
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ
ตู้อบแห้ง พลังงานแสงอาทิตย์ แก๊สชีวภาพ

เจ้าของผลงาน
แสนสุรีย์ เชื้อวังคำ
อาจารย์ ดร.อุปถัมภ์ โพธิกนิษฐ์

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
แสนสุรีย์ เชื้อวังคำ เเละ อาจารย์ ดร.อุปถัมภ์ โพธิกนิษฐ์ . (2559). ตู้อบแห้งด้วยความร้อนร่วมแสงอาทิตย์และแก๊สชีวภาพ. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.