งานวิจัย คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน


คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

การวิจัยเรื่องคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนมีวัตถุประสงค์หลัก คือการสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้สามารถจัดการและอยู่กับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์รองใน ปี 2552 เพื่อการนำแบบจำลองที่สังเคราะห์ขึ้นจากการทำวิจัยในปี 2551 ลงสู่การปฏิบัติจริง เพื่อการเรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่สามารถอยู่ในชุมชนท้องถิ่นได้ การวิจัยครั้งนี้ใช้แนวทางของการทำประชาพิจัย โดยวางแผนการดำเนินการร่วมกับผู้นำเครือข่ายอินแปงที่ผ่านการเรียนรู้ตนเองมาแล้ว และนำแบบจำลองที่สังเคราะห์ขึ้นในงานวิจัยปี พ.ศ.2551 มาสู่การปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมายคน รุ่นใหม่ที่ถูกคัดสรรโดยผู้นำเครือข่ายอินแปง ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ (Interview) การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) และใช้กระบวนการเรียนรู้โดยชุมชนเองจากการจัดเวทีผ่านการจัดการเรียนรู้ร่วมกันและการนำเสนอผลงาน โดยกลุ่มตัวอย่างได้แก่ คนรุ่นใหม่ที่ผู้นำเครือข่ายอินแปงเป็นผู้คัดสรรกระจายครอบคลุม 3 จังหวัด คือ สกลนคร กาฬสินธุ์ และอุดรธานี จำนวน 70 คน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การทำวิจัยเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่ต้องการดำรงความเป็นเครือข่ายอินแปงให้ยั่งยืน เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสืบต่อไป การสรรค์สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนผู้นำเครือข่ายรุ่นเก่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกระบวนการสรรค์สร้างคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ของคนในชุมชนเครือข่ายเอง พร้อมกับองค์ความรู้ที่ทีมวิจัยได้สังเคราะห์ขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การคัดสรรคนรุ่นใหม่โดยผู้นำเครือข่ายครอบคลุม 18 ตำบล การรวบรวมรายชื่อคนรุ่นใหม่ การวางแผนกำหนดสถานที่และหลักสูตรในการสรรค์สร้างคนรุ่นใหม่ การอบรมถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ การศึกษาประสบการณ์และการ ดูงานจากเยาวชนต้นแบบ การเรียนรู้จากผู้นำเครือข่าย การทำแผนยุทธศาสตร์เป็นแผนชีวิตและชุมชน การสืบทอดวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกัน การลงพื้นที่พบปะพูดคุยและการมอบทุนสนับสนุน การติดตามการนำแผนไปใช้และการติดตามความก้าวหน้า และขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดเวทีแสดงผลงาน ผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่ผ่านกระบวนการสรรค์สร้างจำนวน 70 คน สามารถดำรงตนอยู่ในกระบวนการสรรค์สร้างได้กว่าร้อยละ 90 และมีเงินทุนหมุนเวียนลงไปในชุมชนท้องถิ่นจำนวนคนละ 3,000 บาท ก่อให้เกิดการนำแนวทางการทำเกษตรผสมผสาน เพื่ออยู่เพื่อกินแบบพอเพียงไปใช้ในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนของตนเอง และการร่วมกันสร้างเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งสามารถขยายไปในระดับชุมชนเครือข่ายในอนาคต เป็นการยกระดับความสัมพันธ์ในทางสังคมของคนรุ่นใหม่กับผู้นำเครือข่าย รวมถึงคนในชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งเป็นสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรค จากการขาดประสบการณ์และขาดความรู้ที่นำมาสนับสนุนการปฏิบัติการของตนเอง ได้แก่ ความรู้ด้านการทำบัญชี การแปรรูปผลผลิตการจัดการอย่างเป็นระบบ และการคิดคำนวณต้นทุนผลผลิต ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่างานวิจัยครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้จะเป็นระยะเริ่มต้นก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ ควรมีการติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นว่าคนรุ่นใหม่สามารถยกระดับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้จริงและอย่างยั่งยืนหรือไม่ พร้อมกับการสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้เพิ่มเติมต่อไป

ทุนวิจัยงบแผ่นดิน
วิทยาการจัดการ
เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ
สาขาสังคมวิทยา
มนุษยศาสตร์
เครือข่ายอินแปง , การพัฒนาท้องถิ่น

เจ้าของผลงาน
ชนินทร์ วะสีนนท์
ธวัชชัย กุณวงษ์,สมบูรณ์ ชาวชายโขง

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
ชนินทร์ วะสีนนท์ ,ธวัชชัย กุณวงษ์ เเละ สมบูรณ์ ชาวชายโขง . (2553). คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.