งานวิจัย โครงการวิจัยรูปแบบการพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการชุมชนของตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร


โครงการวิจัยรูปแบบการพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการชุมชนของตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ได้ดำเนินการก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล เมื่อวันที่ 12 เดือนมีนาคม 2551 อยู่ที่หมู่บ้านเต่างอยใต้ หมู่ 7 ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีนายบุญเตรียม งอยผาลา เป็นประธานกองทุนฯ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนเต่างอย เพื่อเป็นศูนย์รวมน้ำใจของคนทุกเพศ ทุกวัย ในชุมชน อันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและกลุ่มร่วมกัน ในการช่วยเหลือและประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหากับชุมชนในด้านต่างๆ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 3,045 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ผู้พิการ โดยมีการกระจายตัวของสมาชิกทั้งหมดจาก จำนวน 7 หมู่บ้าน โดยได้จัดระบบสวัสดิการให้แก่สมาชิก จำนวน 13 รายการ อาทิเช่น สวัสดิการการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อัคคีภัย สวัสดิการคนทำงาน ทุนเพื่อการศึกษา ทุนเพื่อที่อยู่อาศัย ทุนเพื่อประกอบอาชีพ ทุนผู้พิการ ทุนผู้ด้อยโอกาส อุบัติเหตุ และผู้สูงอายุ ขั้นตอนการบริหารจัดการของกลุ่มมีการเก็บเงินกับสมาชิก ออมเงินวันละ 1 บาท เพื่อเข้ากองทุนฯ เป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท การดำเนินการสามารถปรับเพิ่ม หรือลดทอน การจัดสวัสดิการได้ตามเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนฯ จึงทำให้มีสมาชิกกองทุนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่างอย พบว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกได้อย่างเต็มที่ เพราะสมาชิกต้องการให้เพิ่มเงินในการช่วยเหลือสวัสดิการแก่ครอบครัว โดยเสนอให้มีการพัฒนาการจัดสวัสดิการในชุมชนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประเภทของการให้สวัสดิการ หรือการเปลี่ยนกองเงินเป็นการจัดสวัสดิการในด้านความช่วยเหลืออื่นๆ เปลี่ยนกองเงินเป็นกองบุญ ที่ไม่ได้มุ่งเป้าหมายหลักที่เป็นการให้เงินเป็นปัจจัยหลัก เป็นต้นโดยการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ใช้ฐานคิดขององค์กรการเงิน เน้นบริหารการเงินนำผลกำไรมาจัดสวัสดิการ ด้วยการออม จากรายได้ และมีการจัดสวัสดิการโดยยึดเงินเป็นกลไกในการดำเนินงาน ทำให้การจัดสวัสดิการที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับเงินมากกว่าสวัสดิการที่ไม่ใช่เงิน จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงนำมาสู่วัตถุประสงค์ของการดำเนินการวิจัย มุ่งเน้นให้ชุมชนร่วมพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการชุมชนที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับบริบทของชุมชนตำบลเต่างอย บนฐานการมีส่วนร่วมและทุนทางด้านทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็ง โดยใช้กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ชุมชน ได้รื้อฟื้นความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่เน้นการเกื้อกูล ช่วยเหลือกันและกัน การนิยามความหมายสวัสดิการที่ผ่านมาและการร่วมกันนิยามใหม่ในมิติของชุมชน จากการวิจัยพบว่า หลักการในการพัฒนากระบวนการของการจัดสวัสดิการของชุมชนให้ครอบคลุมทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1) การเรียนรู้แลกเปลี่ยนจากต่างถิ่น เพื่อนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนเต่างอยและออกแบบกระบวนการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน ทั้งที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ 2) ขยายการสื่อสารแนวความคิดเพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการจัดระบบสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เป็นการขยายผลการของการจัดรูปแบบ โดยได้พัฒนารูปแบบทุนทางด้านภูมิปัญญาเรื่อง “การเอาแรง (โฮมบุญ)” และ“ประเพณีบุญกองข้าว” ดำเนินการควบคู่กับการจัดสวัสดิการในรูปแบบทุนสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน 13 รายการ ที่ครอบคลุมเฉพาะสมาชิก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อัคคีภัย สวัสดิการคนทำงาน ทุนเพื่อการศึกษา ทุนเพื่อที่อยู่อาศัย ทุนเพื่อประกอบอาชีพ ทุนผู้พิการ ทุนผู้ด้อยโอกาส อุบัติเหตุ และผู้สูงอายุ และ 3) การเชื่อมความสัมพันธ์ของคุณค่าสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน ต่อการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน โดยเน้นการฟื้นฟูสวัสดิการชุมชนให้เป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นการจัดสวัสดิการที่คนในชุมชนร่วมกันสร้าง ร่วมกันดำเนินงาน และร่วมกันรับผลประโยชน์ เป็นการให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีกระบวนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตำบลเต่างอย คอยให้ความช่วยเหลือและบริการด้านจิตอาสาต่างๆ ภายในตำบลเต่างอย ผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย สามารถนำเสนอผลกระทบ 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล ในการทำงานของคณะผู้วิจัยได้มีการพัฒนากลุ่มผู้นำที่เสียสละบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนร่วม ได้เข้ามาพัฒนากระบวนการทางด้านความคิดและเรียนรู้กระบวนการทำวิจัยแบบชาวบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ในการวิจัยชุนชนด้วยชุมชนจัดการตนเอง ระดับชุมชน กระบวนการวิจัยสร้างกลุ่มเยาวชนเลือดใหม่ที่จะเข้ามาเป็นแรงกำลัง และหนุนเสริมกลไกในการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการชุมชนที่เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงานของตำบลเต่างอยให้คงอยู่และมีการสืบสานมรดกทางความคิดนี้ผ่านกิจกรรมจิตอาสาเพื่อการพัฒนาชุมชนในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระดับท้องถิ่น เกิดนโยบายของการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีการระบุแผนการพัฒนาวัฒนธรรมประเพณีของตำบลเต่างอย ภายใต้ประเพณีบุญกองข้าว ซึ่งกลายเป็นการร่วมทำบุญของคนทั้งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ในการร่วมแรงร่วมใจและบริจาคข้าวเพื่อจัดตั้งเป็นกองบุญสวัสดิการชุมชนต่อไป

ทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่น
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
การพัฒนาชุมชน
สาขาสังคมวิทยา
มนุษยศาสตร์
สวัสดิการชุมชน

เจ้าของผลงาน
อุทุมพร หลอดโค
คณะ

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
อุทุมพร หลอดโค เเละ คณะ . (2560). โครงการวิจัยรูปแบบการพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการชุมชนของตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.