ปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตน้้านมของฟาร์มโคนมในจังหวัดสกลนคร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร สภาพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร ต้นทุนผลตอบแทนการผลิตน้ำนม และปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตน้ำนมของฟาร์มโคนมในจังหวัดสกลนคร ประชากรในการศึกษา คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมภูพานสกลนคร จำกัด และเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด เก็บรวบรวมข้อมูลการผลิตในรอบปี 2559 (มกราคม – ธันวาคม 2559) โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (structured interview) สัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดสกลนคร หาขนาดตัวอย่างโดยใช้สูตรของของ ทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 110 ครัวเรือน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบอาศัยความน่าจะเป็น (probability sampling) ด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย (systematic random sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาในการอธิบายข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (mean) ค่าสูงสุด (max) ค่าต่ำสุด (min) ความถี่ (frequency) และร้อยละ (percentage) ทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติที่อิสระ (independent t-test) และหาปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตน้ำนมของฟาร์ม โคนมในจังหวัดสกลนคร โดยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติคแบบสองกลุ่ม (binary logistic regression analysis) ผลการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 49 ปี การศึกษาระดับประถมศึกษา มีประสบการณ์ในการเลี้ยงโคนมเฉลี่ย 17 ปี เกษตรกรนิยมเลี้ยงโคนมพันธุ์ไทยฟรีเชียน (Thai Friesian) เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ให้น้ำนมปริมาณสูง มีรูปการเลี้ยงแบบปล่อยในคอกและตัดหญ้าให้กิน ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก และนิยมใช้เครื่องรีดแบบ 2 ชุดหัวรีด ด้านอาหารโคนม พบว่าเกษตรกรนิยมให้อาหารหยาบเป็นหญ้าสดและฟางข้าว ให้อาหารข้นสำเร็จรูป และให้แร่ธาตุชนิดก้อน ขนาดฟาร์มโคนม พบว่า ร้อยละ 71.82 เป็นฟาร์มโคนมขนาดเล็ก มีจำนวนแม่โคเฉลี่ย 13-16 ตัวต่อครัวเรือน ต้นทุนและผลตอบแทนจากการผลิตน้ำนม พบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่มาจากค่าอาหาร ร้อยละ 50-60 ของต้นทุนทั้งหมด รองลงมา คือ ค่าแรงงาน และค่าเสื่อมราคาแม่พันธุ์โคนม ตามลำดับ ทดสอบความแตกต่างทางสถิติ พบว่า เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมภูพานสกลนคร จำกัด กับกลุ่มเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด มีต้นทุนการผลิตน้ำนมและผลตอบแทนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด มีต้นทุนและผลตอบแทนที่ดีกว่าเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมภูพานสกลนคร จำกัด และทดสอบความแตกต่างของขนาดฟาร์มโคนม พบว่า ขนาดฟาร์มแตกต่างกัน มีต้นทุนและผลตอบแทนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) คือ ฟาร์มโคนมขนาดกลางมีต้นทุนและผลตอบแทนที่ดีกว่าฟาร์มโคนมขนาดเล็ก ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตน้ำนมของฟาร์มโคนมในจังหวัดสกลนคร พบว่ามี 5 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ ได้แก่ 1) ระดับการศึกษา (P<0.05) หากเกษตรกรได้รับการศึกษาในระดับสูงกว่าประถมศึกษา มีโอกาสที่จะผลิตน้ำนมดิบให้มีต้นทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม มากกว่าเกษตรกรที่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา 4.28 เท่า 2) ขนาดฟาร์ม (P<0.01) ฟาร์มขนาดกลางมีโอกาสที่จะมีต้นทุนการผลิตน้ำนมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มมากกว่าฟาร์มขนาดเล็ก 116.61 เท่า 3) จำนวนแรงงานในฟาร์ม (P<0.05) หากเกษตรกรใช้แรงงานในฟาร์มเพิ่มขึ้น 1 คน มีโอกาสที่จะมีต้นทุนการผลิตน้ำนมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มลดลง 0.37 เท่า 4) ปริมาณอาหารข้นที่ให้แม่โค (P<0.05) หากเกษตรกรให้อาหารข้นเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน จะทำให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะมีต้นทุนการผลิตน้ำนมต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ลดลง 0.85 เท่า 5) ความรู้เกี่ยวกับอาหารหยาบ (P<0.05) หากเกษตรกรที่มีความรู้เกี่ยวกับอาหารหยาบในระดับมากถึงมากที่สุด มีโอกาสที่จะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม มากกว่าเกษตรกรที่มีความรู้เกี่ยวกับอาหารหยาบในระดับน้อยที่สุดถึงปานกลาง 2.89 เท่า