งานวิจัย ประสิทธิภาพของเจลล้างมือที่ผลิตจากเม่าหลวง (AntidesmathwaitesianumMuell. Arg.) ต่อการทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค


ประสิทธิภาพของเจลล้างมือที่ผลิตจากเม่าหลวง (AntidesmathwaitesianumMuell. Arg.) ต่อการทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเจลล้างมือที่ผลิตจากเม่าหลวงในการทำลายจุลินทรีย์ก่อโรคและการต้านอนุมูลอิสระ โดยการสกัดสารสำคัญอย่างหยาบจากเม่าผงที่บดละเอียด แล้วนำมาสกัดด้วยเครื่องกลั่นระเหยสุญญากาศ ทำให้ได้สารสกัดออกมา ซึ่งคิดเป็นค่า %Yield โดยเฉลี่ยคือ 7.344 ในการทดสอบประสิทธิภาพโดยการหาความเข้มข้นต่ำที่สุดของสารสกัดจากเม่าหลวงในการยับยั้งการเจริญ (Minimum inhibitory concentration: MIC) และทำลาย (Minimum bactericidal concentration: MBC) เชื้อทดสอบ ซึ่งพบว่า ค่า MIC และ MBC ของ Bacillus cereus และ Escherichia coli คือ ความเข้มข้นของสารสกัดเม่าหลวงที่ระดับ 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 80 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ในขณะที่ค่า MIC และ MBC ของ Salmonella sp. และ Staphylococcus aureusคือ 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับผลของแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ที่ระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ สามารถยับยั้งการเจริญและทำลายจุลินทรีย์ก่อโรคที่ใช้ทดสอบได้ทุกสายพันธุ์ หลังจากนั้นจึงได้เลือกระดับความเข้มข้นของสารสกัด เพื่อใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ ได้แก่ สูตรที่ 1 คือ สูตรมาตรฐาน, สูตรที่ 2 คือมีความเข้มข้นของสารสกัด 80 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร, สูตรที่ 3 มี 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร, และ สูตรที่ 4 มี 120 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สำหรับผลการทดสอบความคงตัว (ความเสถียร) ทางกายภาพและชีวภาพของเจลล้างมือ พบว่า ความคงตัวของสีเจลล้างมือสูตรที่มีสารสกัดเม่าหลวงเป็นส่วนผสม ได้แก่ สูตรที่ 2, 3, และ 4 อยู่ในช่วงเฉดสี Greyed- Orange ในขณะที่ช่วงของสีเจลล้างมือสูตรมาตรฐาน (สูตรที่ 1) อยู่ในช่วงเฉดสี Greyed-White สำหรับผลการวิเคราะห์ค่าความเป็นกรดด่าง พบว่าเจลล้างมือสูตรที่ 4 มีค่า pH เฉลี่ยต่ำที่สุด คือ 5.084 ในขณะที่ในเจลล้างมือสูตรที่ 3 และ 2 มีค่า pH เฉลี่ยอยู่ที่ 5.222 และ 5.277 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสูตรที่ 1 ซึ่งมีค่า pH เฉลี่ยอยู่ที่ 6.813 ผลการทดสอบประสิทธิภาพของเจลล้างมือในการทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค ด้วยวิธี paper disk diffusion พบว่าเจลล้างมือสูตรที่ 2, 3, และ 4 มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อทดสอบทุกสายพันธุ์ ยกเว้น E. coli ได้ดีกว่าสูตรที่ 1 เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลางของบริเวณยับยั้ง (Inhibition zone) ที่สูงกว่า สำหรับผลการวิเคราะห์ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของเจลล้างมือทั้ง 4 สูตร พบว่า ตลอดระยะเวลา 30 วัน สูตรที่ 1 มีค่าเปอร์เซ็นต์ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระต่ำกว่าทุกสูตร ในขณะที่สูตรที่ 2 มีเปอร์เซ็นต์ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูงและคงที่กว่าสูตรที่ 3 และ 4 และเมื่อทำการศึกษาการยอมรับทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์เจลล้างมือทั้ง 4 สูตรโดยใช้วิธี Five-Point-Hedonic Scale ในอาสาสมัคร จำนวน 25 คน โดยมีตัวแปรที่ใช้ในการทดสอบคือ สี กลิ่น เนื้อสัมผัส และความพึงพอใจโดยรวม แล้วนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ทางสถิติโดยการใช้ Least Significant Difference Test (LSD) โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 0.05 พบว่าอาสาสมัครผู้ทดสอบมีความพึงพอใจในทุกตัวแปรคือ ด้านสี, กลิ่น, เนื้อสัมผัส และความพึงพอใจโดยรวมต่อผลิตภัณฑ์เจล ล้างมือสูตรมีสารสกัดเม่าเป็นส่วนผสม ได้แก่ สูตรที่ 2, 3, และ 4 ที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นเท่ากับร้อยละ 95 แต่มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์เจลล้างมือสูตรที่ 1 ซึ่งพบว่าผู้ทดสอบมีความพึงพอใจในทุกตัวแปรที่ใช้ทดสอบต่อผลิตภัณฑ์เจลล้างมือสูตรดังกล่าวมากที่สุด

ทุนวิจัยงบแผ่นดิน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ชีววิทยา
สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
สมุนไพรไทย อาหารเสริมและสปา
สารสกัดเม่าหลวง (Mao Luang (AntidesmathwaitesianumMuell. Arg.) extract), เจลล้างมือ (Hand washing gel), ฤทธิ์ในการทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค (Antimicrobial activity), สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)

เจ้าของผลงาน
แก้วกัลยา โสตถิสวัสดิ์
อุลัยวรรณ์วิทยเกียรติ

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
แก้วกัลยา โสตถิสวัสดิ์ เเละ อุลัยวรรณ์วิทยเกียรติ . (2554). ประสิทธิภาพของเจลล้างมือที่ผลิตจากเม่าหลวง (AntidesmathwaitesianumMuell. Arg.) ต่อการทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.