งานวิจัย การพัฒนารูปแบบการจัดการพืชสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ชุมชน:กรณีศึกษา บ้านหนองบัว ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร


การพัฒนารูปแบบการจัดการพืชสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ชุมชน:กรณีศึกษา บ้านหนองบัว ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

โครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการจัดการพืชสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน: กรณีศึกษา บ้านหนองบัว ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรท้องถิ่น 2) พัฒนารูปแบบการจัดการแปลงปลูกพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่เหมาะสมของชุมชน และ 3) พัฒนาการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสมุนไพรท้องถิ่น โดยใช้ปฏิบัติการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) กลุ่มเป้าหมายคัดเลือกแบบเจาะจง คือ กลุ่มผู้นำชุมชน หรือปราชญ์ชุมชนผู้มีองค์ความรู้ กลุ่มผู้ปลูกหรือผู้ผลิตสมุนไพร กลุ่มประชาชนที่เกณฑ์รายได้ของคน 40% ที่จนที่สุด และกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในระดับชุมชน จำนวน 15 คน โดยใช้เครื่องมือในการศึกษาชุมชน สัมภาษณ์แบบเจาะลึก ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โมเดลทางคณิตศาสตร์ อบรมเชิงปฏิบัติการ และจัดเสวนากลุ่ม เป็นการนำเอาองค์ความรู้วิชาการมาเป็นต้นแบบเชิงรุกในการดำเนินงาน ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายยกระดับรายได้หรือยกระดับเศษฐกิจชุมชนท้องถิ่นมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ คือ การที่ชุมชนพื้นที่มีชุดข้อมูลสถานการณ์พืชสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อการใช้ประโยชน์ (ระบบผลิต ระบบแปรรูป ระบบตลาด) ซึ่งชุมชนสามารถเข้าถึงได้และง่ายต่อใช้ประโยชน์ ทั้งยังมีรูปแบบการจัดการพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชสมุนไพรหมุนเวียนและผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงด้านการตลาดที่เหมาะสมกับพื้นที่โดยผ่านการวิเคราะห์ด้วยโมเดล “ต้นไม้ตัดสินใจ” และข้อมูลสารสนเทศ GIS ในการเลือกหรือวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูก สอดคล้องกับศักยภาพชุมชน ความต้องการของตลาดทั้งในและนอกพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกพืชสมุนไพร 8 ชนิด (ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตระไคร้หอม ว่านหางจระเข้ ฟ้าทลายโจร กระเจี๊ยบ และมะกรูด) คิดเป็นร้อยละ 58.53 ของการใช้ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังมีการเพิ่มชนิดพันธุ์ใหม่และกำลังการผลิตในพื้นที่จากเดิม จำนวน 30 ชนิด ปริมาณการเพาะปลูกรวมกัน 754 ต้น เพิ่มเป็น 32 ชนิด (ตะไคร้หอม และขมิ้นชัน) ปริมาณการเพาะปลูกหลังมีการดำเนินงานโครงการวิจัย 4,154 ต้น คิดเป็นร้อยละ 77.82 ของการใช้ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในชุมชน ผ่านการดำเนินงานของกลุ่มผู้ผลิตพืชสมุนไพรบ้านหนองบัวที่ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบสมุนไพรของชุมชนรวมไปถึงการสร้างคุณค่าต่อคนในชุมชนในแง่ของการดูแลสุขภาพชุมชนและการยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน โดยผ่านผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร 2 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำมันเขียวสมุนไพร และสเปรย์ไล่ยุง พร้อมกันนี้ได้สร้างกลไกการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานสมุนไพรของชุมชนท้องถิ่นแบบบูรณาการพันธกิจหน่วยงาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีเจตนาดีหรือไม่ได้รับผลกระทบ กลุ่มภาครัฐ และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เกิดแนวคิดร่วมในการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู ชนิดพันธ์สมุนไพร พัฒนาและยกระดับการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรให้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะปาง และประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่

ทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่น
สถาบันวิจัยและพัฒนา
-
-
-
เศรษฐกิจชุมชน, สมุนไพรท้องถิ่น, ความเหลื่อมล้ำ, การเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร

เจ้าของผลงาน
นางสาวอัสฉรา นามไธสง
นายศักดิ์ดา แสนสุพรรณ, ผศ.ดร.ประวิทย์ สุวรรณรงค์, นายมงคล แสนสุข, นายแสนสุรีย์ เชื้อวังคำ, นางสาวญาณวิจา คำพรมมา

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
นางสาวอัสฉรา นามไธสง ,นายศักดิ์ดา แสนสุพรรณ, ผศ.ดร.ประวิทย์ สุวรรณรงค์, นายมงคล แสนสุข, นายแสนสุรีย์ เชื้อวังคำ เเละ นางสาวญาณวิจา คำพรมมา . (2564). การพัฒนารูปแบบการจัดการพืชสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ชุมชน:กรณีศึกษา บ้านหนองบัว ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.