ยกระดับการจัดการห่วงโซ่เศรษฐกิจด้วยงานวิชาการเพื่อท้องถิ่นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การศึกษาการลดความเลื่อมล้ำมิติเศรษฐกิจสามารถวัดได้ในระยะสั้น งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับการจัดการปัญหาต้องมีการยืนยันด้วยหลักฐานและข้อมูลที่เป็นเชิงประจักษ์ ซึ่งต้องมีการบูรณการการทำงานร่วมกันกับนักวิชาการในพื้นที่เพื่อการยกระดับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ การประเมินความเหลื่อมล้ำคือ การวัดโอกาสในการเข้าถึงที่แต่ละกลุ่มมีโอกาสมากน้อยไม่เท่ากัน กับคำสำคัญหลัก 3 คำ คือการเข้าถึง การต่อรอง และการจัดการ ด้วยการวิเคราะห์รายได้ของคนในกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน กลุ่มที่ 2 รายได้สูงกว่าเส้นความยากจนแต่น้อยกว่าเส้น 40% ที่จนที่สุด กลุ่มที่ 3 รายได้สูงกว่าเส้น 40%ที่จนที่สุดแต่ต่ำกว่าเส้นมัธยฐาน และ กลุ่มที่ 4 รายได้สูงกว่าเส้นมัธยฐาน เมื่อเทียบกับรายได้ของประเทศไทยให้มีรายได้ก้าวข้ามพ้นเส้น 40%ที่จนที่สุด กรอบแนวคิดการวิจัย เป็นไปตามหลักคิดการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับความเลื่อมล้ำในสังคมและการแบ่งประเภทความเลื่อมล้ำตามนิยามของ UNESCO 2016 ที่ได้แบ่งความเลื่อมล้ำออกเป็น 7 มิติ ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความรู้ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านการเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความเลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ มิติความเลื่อมล้ำที่มีการดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยนี้ 3 มิติคือ ด้านเศรษฐกิจด้านความรู้ และ ด้านการเมือง ซึ่งหลักคิดการทำวิจัยดังนี้ “การลดความเลื่อมล้ำด้วยการเข้าถึง การต่อรอง การบริหารจัดการจากห่วงโซ่ความเลื่อมล้ำ ที่มีการวิเคราะห์รายได้ของคนในกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่มให้มีรายได้ก้าวข้ามพ้นเส้น 40%ที่จนที่สุด ร่วมกับภาคีในแนวราบ” ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโดยการเน้นกระบวนการที่ให้คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมออกแบบปฏิบัติการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ให้หลุดพ้นออกจากกับดักเดิมที่ตนเองติดอยู่ วิธีการวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีความสามารถมากขึ้น มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้น มีความสัมพันธ์ในชุมชนและระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับชุมชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ที่มุ่งเน้นความสำเร็จของกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับตัวชี้วัดความเลื่อมล้ำ การลดความเลื่อมล้ำมิติเศรษฐกิจจำแนกกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 2 และ กลุ่มที่ 3 และกลุ่มเป้าหมายรองคือกลุ่มที่ 4 เป็นส่วนผสมของกลุ่มเป้าหมายในระบบนิเวศน์ของการเกื้อกูลกันของระบบเศรษฐกิจชุมชน ส่งผลเกิดผลการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มได้ภายในระยะเวลาสั้น ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 2 – 11 การวิเคราะห์ห่วงโซ่เศรษฐกิจออกเป็น 3 ระบบหลัก คือการผลิต การแปรรูป และการตลาด พบว่าในระบบการผลิตพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐานและชนิดพืชสมุนไพรปลูกในแปลงทดลองต้องมีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยหรือผู้รับซื้อเป็นภาคีสำคัญในเลือกชนิดพืชและกระบวนการปลูกเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของการตลาดสู่การผลิตที่มีมาตรฐาน การแปรรูปสมุนไพรเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างง่ายมีการใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบไปด้วย ยาหม่อง น้ำมันเหลือง และลูกประคบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระเป๋าไม่ไผ่สานที่เป็นการยกระดับภูมิปัญญาการสานไม้ไผ่ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากไผ่ในท้องถิ่น การขายเป็นตลาดระดับชุมชนเป็นหลัก สำหรับระบบการตลาดพบว่าเป็นลักษณะตลาดของชุมชนที่มีการบริหารจัดการร่วมกันของคนในชุมชน เป็นการกระจายและแลกเปลี่ยนสินค้าในชุมชน และสร้างโอกาสให้คนในชุมชนที่ไม่สามารถขายสินค้าเข้ามาร่วมเป็นผู้ค้าในตลาดขนาดเล็กที่ใกล้ชุมชน การเดินทางสะดวกและสามารถเข้าถึงง่าย เป็นระบบการตลาดแบบเกื้อกูลและมีส่วนร่วมการทำงานของคนในชุมชน