งานวิจัย การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน


การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน

เศรษฐกิจฐานรากพื้นที่อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร บนฐานทรัพยากรป่าไม้และผลผลิตจากป่าตามลักษณะภูมินิเวศน์ เกิดผลผลิตจากป่าตลอดทั้งปีประกอบไปด้วย อาหาร สมุนไพร และเป็นเชื้อเพลิง มีภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านในชุมชน พื้นที่ในการเก็บสมุนไพรทั้งป่าชุมชน ป่าเชิงเขา และในครัวเรือน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่บ้านนางอย ตำบลเต่างอยที่ระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรเกือบทั้งหมด ส่งผลให้ระบบการผลิตหลักในพื้นที่คือข้าวและมะเขือเทศซึ่งเป็นพืชหลังนา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ที่สำคัญและมีการรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในการผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค อาชีพเกษตรกรรมหลักของชุมชนคือ ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ อาชีพนอกภาคการเกษตรคือ ค้าขายและรับจ้างทั่วไป พื้นที่มีแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรพื้นที่ตำบลเต่างอยจึงมีการทำการเกษตรตลอดทั้งปี ชนิดพืชที่สำคัญในพื้นที่คือข้าวและมะเขือเทศ มีการขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู และมีการเลี้ยงไก่เกือบทุกครัวเรือนเพื่อการบริโภค นอกจากนี้ชุมชนยังมีอาชีพเสริมในการผลิตไม้กวาด และการจักสาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด่นในพื้นที่และมีพ่อค้าคนกลางมารับไปขาย โดยการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในการรับซื้อ การจำแนกกลุ่มเป้าหมายตามรายได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ 1 รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจน กลุ่มที่ 2 รายได้สูงกว่าเกณฑ์ความยากจนแต่ต่ำกว่ารายได้เกณฑ์ 40 % ที่มีรายได้น้อยที่สุด กลุ่มที่ 3 รายได้สูงกว่า 40% แต่ต่ำกว่าเกณฑ์มัธยฐาน และ กลุ่มที่ 4 รายได้สูงกว่าเกณฑ์มัธยฐาน ในระดับครัวเรือน พบว่าแหล่งที่มาของรายได้หลักของคนกลุ่มที่ 1 2 และ 3 คือ รายได้จากการขายข้าว และค่าจ้างจากการทำงานหรือรับจ้างทั่วไป นอกจากนั้นยังพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารเป็นสัดส่วนที่สูงในคนกลุ่มที่ 1 และ 2 ถึงร้อยละ 62.70 และ 58.80 ตามลำดับ การยกระดับเศรษฐกิจภายใต้แผนงานวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระบบหลักคือ ระบบการผลิต ระบบการแปรรูป และระบบการตลาด พบว่า ในระบบการผลิตเป็นการจัดการในในพื้นที่แปลงด้วยเทคโนโลยีเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีการจัดการน้ำในการแปลงปลูกพืชฤดูแล้ง ในระบบการแปรรูปคือ การส่งเสริมการปลูกเพื่อการอนุรักษ์พืชสมุนไพร เทคโนโลยีการแปรรูปสมุนไพรยาหม่องน้ำ และการสร้างตราสินค้าและเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน ในระบบการตลาดคือ การเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับมะเขือเทศอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน โดยตลาดรับซื้อผลผลิตหลักคือในชุมชนและในตัวอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่น
สถาบันวิจัยและพัฒนา
-
-
-
ศรษฐกิจฐานราก, ตลาดทางเลือก, การจัดการน้ำ, พืชฤดูแล้ง, สมุนไพรภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน

เจ้าของผลงาน
อาจารย์ ดร.นิภาพร ชนะมาร
ผศ.ดร.วิจิตรา สุจริต, นางสาวอัสฉรา นามไธสง, นายแสนสุรีย์ เชื้อวังคำ, นายศักดิ์ดา แสนสุพรรณ, นางสาววิภาวรรณ ใหญ่สมบูรณ์

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
อาจารย์ ดร.นิภาพร ชนะมาร ,ผศ.ดร.วิจิตรา สุจริต, นางสาวอัสฉรา นามไธสง, นายแสนสุรีย์ เชื้อวังคำ, นายศักดิ์ดา แสนสุพรรณ เเละ นางสาววิภาวรรณ ใหญ่สมบูรณ์ . (2564). การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.