งานวิจัย การหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน


การหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

การหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพนักวิจัย เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างทักษะในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และต่อยอดการดำเนินงาน นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น หนุนเสริมนักวิชาการในการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลแนวทางระบบและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยดำเนินการในพื้นที่ภูมินิเวศน์ภูพาน ประกอบไปด้วย 2 จังหวัด คือ 1) จังหวัดสกลนคร คือ บ้านนางอย และบ้านโพนปลาโหล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นระยะที่ 1 และบ้านน้ำพุ อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร และ 2) จังหวัดมุกดาหาร คือ บ้านนาโสก และบ้านเหล่าป่าเป้ด ตำบลนาโสก จังหวัดมุกดาหาร กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม คือ อาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นักวิจัยชาวบ้าน/ประชาชนเพื่อท้องถิ่นในชุมชน ซึ่งเป็นนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นรุ่นที่ 1 และนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นรุ่นใหม่ ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 57 คน จากโครงการวิจัย 4 โครงการวิจัย ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัยโประกอบด้วย การประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) แบบสัมภาษณ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ บันทึกวิดีโอ การสังเกต และสรุปบทเรียน ในใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) ผลการวิจัย พบว่า 1. ผลการหนุนเสริมนักวิชาการในการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ทำให้นักวิชาการ (อาจารย์) และนักวิจัย (ชาวบ้าน) เกิดทักษะเพื่อการดำเนินงาน เช่น การแตกกรอบ การจัดการความรู้ชุมชน และการถอดบทเรียนแบบเสริมพลังงานการเรียนรู้บนฐานความรู้ ข้อมูล และเครือข่ายการดำเนินงานแบบพันธกิจสัมพันธ์ร่วมกับภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมภูไทชานุมาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ องค์การบริหารส่วนตำบลนาโสก สมาพันธ์ PGS สกลนคร โรงเรียนบ้านเหล่าป่าเป้ด และมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทั้งนี้ชุมชนพื้นที่เป้าหมายยังเกิด 1) การรวมกลุ่มของคนในชุมชน และพัฒนาต่อยอด เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนจากต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่ สู่การพัฒนางานเชิงห่วงโซ่มูลค่า (Value chain) ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม 2) เกิดช่องทางการตลาดที่สามารถสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เช่น ตลาดชุมชนวิถีนาโสก และ“facebook/ชุมชน 3 ธรรม วิถีผู้ไท ตำบลนาโสก” 3) ชุมชนเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และพัฒนา จัดการตนเองได้ผ่านการวิเคราะห์บทเรียนการดำเนินงานร่วมกันของชุมชนและเครือข่าย เช่น การก้าวเข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แบบ PGS ตลอดจนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้/การจัดการองค์ความรู้ในชุมชนเพื่อการเข้าถึงง่ายและใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน เช่น แหล่งเรียนรู้เพื่อระบบนิเวศหนองหาร และหลักสูตรการเรียนรู้ป่าบุ่งป่าทามของโรงเรียนในพื้นที่บ้านน้ำพุ และหลักสูตรท้องถิ่น เส้นเป้ด ฝ้ายตะหลุง ทั้งยังมีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลังที่เป็นเด็กเยาวชน ลูกหลานที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ได้เกิดจิตอาสาทำงานเพื่อส่วนรวม มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และ 4) เกิดนักวิจัยชุมชนจากหลากหลายช่วงวัย จำนวน 57 คน รวมไปถึงกลุ่ม/องค์กร ที่มีองค์ความรู้ ทักษะการดำเนินงานบนฐานความรู้ ข้อมูล และกระบวนการดำเนินงานที่สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายใต้การหนุนเสริมการดำเนินงานของโครงการวิจัยนี้ 2. แนวทางระบบและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีการนำระบบและกลไกการดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 9 ระบบ โดยกาญจนา วงษ์สวัสดิ์ และคณะ, 2560 มาปรับใช้ในการดำเนินงานซึ่งผลให้เกิดระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพหนุนเสริมการดำเนินงานของโครงการวิจัยเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน โดยที่เมื่อพิจารณาถึงกลไก หรือ กระบวนการที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนท้องถิ่น พบว่า การถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้ภายใต้เครื่องมือการวิเคราะห์ และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ชุดข้อมูล ฐานคิด เพื่อลดช่องว่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งเชิงระบบ และเชิงประเด็นในการทำงานในชุมชน ภายใต้การ หนุนเสริมนักวิชาการในการขับเคลื่อนดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน โดยก่อนที่ชุมชนเข้ามาร่วมเรียนรู้ในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ชุมชนประสบกับปัญหาการพัฒนาทักษะอาชีพ กลุ่มอาชีพ การเกษตร การจัดการทรัพยากร การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือเกิดความเหลื่อมล้ำในชุมชน ในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบสุขภาพ สวัสดิการ ราคาสินค้าทางการเกษตร การเข้าถึงข้อมูล ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ฯลฯ ชุมชนขาดข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อภายหลังการเข้าร่วมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเป้าหมายได้ตระหนักรู้ มีแนวคิดในการจัดการกับปัญหา ความต้องการของชุมชน และวิธีการจัดการระบบเศรษฐกิจฐานราก กับความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ ที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดเองตั้งแต่การพัฒนาโจทย์วิจัย การดำเนินงานวิจัย รวมถึงผลที่เกิดจากงานวิจัย ทำให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ และนำไปปรับใช้ในการลดช่องว่างในทุกมิติ ชุมชนสามารถมองเห็นคุณค่า เห็นบทเรียน เพื่อเป็นฐานคิดที่สำคัญในการลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ครอบครัว และชุมชน บนฐานข้อมูลการเข้าถึง การต่อรอง และการจัดการ ทั้งนี้ยังก่อเกิดภาคีเครือข่ายแบบบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนการดำเนินงาน และกระบวนการดำเนินงานเพื่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนที่มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรม

ทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่น
สถาบันวิจัยและพัฒนา
-
-
-
เศรษฐกิจฐานราก, ระบบและกลไก, การพัฒนาท้องถิ่น

เจ้าของผลงาน
อาจารย์ ดร.มาลี ศรีพรหม
ผศ.ดร.วิจิตรา สุจริต, นางสาวอัสฉรา นามไธสง, นายแสนสุรีย์ เชื้อวังคำ, นายศักดิ์ดา แสนสุพรรณ, นางสาววิภาวรรณ ใหญ่สมบูรณ์, นางสาวภัณฑิรา สีนวลแล

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
อาจารย์ ดร.มาลี ศรีพรหม ,ผศ.ดร.วิจิตรา สุจริต, นางสาวอัสฉรา นามไธสง, นายแสนสุรีย์ เชื้อวังคำ, นายศักดิ์ดา แสนสุพรรณ, นางสาววิภาวรรณ ใหญ่สมบูรณ์ เเละ นางสาวภัณฑิรา สีนวลแล . (2564). การหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.