งานวิจัย การศึกษาระบบความเชื่อและการสืบทอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาลปู่ตาของกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดสกลนคร


การศึกษาระบบความเชื่อและการสืบทอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาลปู่ตาของกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดสกลนคร

การวิจัยครั้งนี้เป็นโครงการใหม่ ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research Methods) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับศาลปู่ตาของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร และ 2)เพื่อศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการสืบทอดความเชื่อเกี่ยวกับศาลปู่ตาของกลุ่มกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร โดยการเลือกพื้นที่วิจัยแบบเจาะจงและใช้วิธีศึกษาการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสาร งานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้อง แบบสัมภาษณ์กี่งโครงสร้าง การประชุมกลุ่มย่อย การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า ระบบความเชื่อและการสืบทอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาลปู่ตาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร จาก 4 พื้นที่กรณีศึกษา ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์หลักดั้งเดิมของจังหวัดสกลนคร ได้แก่ 1)ศาลเจ้าปู่นาโพธิ์-นาเพียง อำเภอวารนิวาส และ 2)ศาลเจ้าปู่ภูเงิน อำเภอพังโคน เป็นกลุ่มความเชื่อของชาติพันธุ์ไทยลาวและไทยญ้อ อาศัยอยู่จำนวนมาก ส่วนที่ 3)ศาลปู่ตา อำเภออากาศอำนวย เป็นกลุ่มความเชื่อของกลุ่มชาติที่อพยพโยกย้ายจากประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคือ ไทยโย้ยและมีการผสมผสานกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการอพยพเข้ามาใหม่คือ จีน 4)ศาลเจ้าพ่อมเหสักข์ อำเภอเมืองสกลนคร จะมีลักษณะความเชื่อคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์ภูไทกระป๋องที่อำเภอวาริชภูมิ ซึ่งมีประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานจากสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องจากเป็นชุมชนเมืองจึงมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ได้แก่ ไทยญ้อ ลาว เวียดนามและจีน ซึ่งมีการอพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ละพื้นที่จะมีการเลือกทำเลที่ตั้งศาลบนพื้นที่สูงและเงียบสงบ มโนทัศน์ที่สำคัญเกี่ยวกับศาลปู่ตาคือ 1)การเป็นผู้ให้ปกป้องรักษา เมื่อออกเดินทางไกลหรือเข้าป่าขอพรให้เดินทางปลอดภัยหรือต้องการความสบายใจเมื่อทุกข์ร้อนหรือเสริมสิริมงคลให้ตัวเอง 2)การเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีการย้ายถิ่นฐานต้องมีการตั้งศาลพระภูมิหรือศาลปู่ตาเพื่อเสริมสิริมงคล อยู่เย็นเป็นสุข ตลอดทั้งเมื่อเปิดฤดูทำการเกษตรจะต้องมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตาประจำทุกปี เพื่อให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ และ 3)ด้านบทบาทเป็นผู้ลงโทษ เมื่อมีการกระทำผิด ล่วงละเมิดหรือการฝ่าฝืนข้อปฏิบัติหรือระเบียบของชุมชน ดังนั้นความเชื่อเรื่องศาลปู่ตาเป็นวัฒนธรรมความเชื่อพื้นฐานในวิญญาณของบรรพบุรุษหรืออำนาจเหนือธรรมชาติของชาวบ้านหรือคนอีสาน หรือไทยลาวที่ยังนับถือผีว่าจะคอยปกป้อง และดูแลรักษาลูกหลาน สะท้อนผ่านความเชื่อ ประเพณีหรือพิธีกรรม เช่น การบวงสรวง การบนหรือการบ๋า โดยจะมี “พ่อจ้ำ”หรือ “กวนจ้ำ” เป็นสื่อกลาง นับเป็นการผสมผสานความเชื่อระหว่างผีกับพระพุทธศาสนาควบคู่กัน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน เป็นกลไกสร้างความมั่นคงทั้งระดับชุมชนหรือสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ชุมชนต้นแบบแผนที่ทางวัฒนธรรม (Cultural Mapping) บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการของชุมชนหรือความพร้อมของชุมชน และการเข้ามามีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรมงานประเพณี และสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร แต่อย่างไรก็ตามสามารถที่จะผสมผสานทางวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืน แม้ช่วงพิธีกรรมจะมีการแยกส่วนระหว่างพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมแต่ละกลุ่มกลุ่มชาติพันธุ์และความเชื่อตามสมัยนิยมของหน่วยงาน การเข้ามามีส่วนร่วมของบุคคลภายนอก ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ก็ตาม จากการวิจัยครั้งนี้เป้าหมายเชิงการพัฒนาคือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อและการสืบทอดทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร และข้อเสนอแนะสืบเนื่องสำหรับการวิจัยครั้งต่อไปควรเป็นลักษณะการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดทั้งการพัฒนาสื่อและสร้างศูนย์การเรียนรู้ใกล้เคียงบริเวณที่ตั้งศาลปู่ตา เนื่องจากขาดแหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อบริการให้กับนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มคนที่มีความสนใจเบื้องต้นได้

ทุนวิจัยงบรายได้
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
การพัฒนาชุมชน
-
-
ศาลปู่ตา,ความเชื่อเกี่ยวกับศาลปู่ตา,กลุ่มชาติพันธุ์ในสกลนคร,การมีส่วนร่วมของชุมชน

เจ้าของผลงาน
อาจารย์พงษ์ศักดิ์ ฐานสินพล
นางสาวภัชราภรณ์ สาคำ

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
อาจารย์พงษ์ศักดิ์ ฐานสินพล เเละ นางสาวภัชราภรณ์ สาคำ . (2563). การศึกษาระบบความเชื่อและการสืบทอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาลปู่ตาของกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดสกลนคร. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.