งานวิจัย ภูมินิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำหนองหาร:การศึกษาบริบทและพัฒนาศักยภาพการจัดการ ท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษาชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร


ภูมินิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำหนองหาร:การศึกษาบริบทและพัฒนาศักยภาพการจัดการ ท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษาชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร

การวิจัยครั้งนี้เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research ) มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาบริบทชุมชนการท่องเที่ยว กรณีศึกษาชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และ 2)เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม และจัดทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดแผนสนับสนุนชุมชน ภายหลังการวิจัยสิ้นสุดลง โดยการเลือกพื้นที่วิจัยแบบเจาะจง ใช้วิธีศึกษาการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสาร งานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้อง และแหล่งข้อมูลปฐมภูมิได้แก่ แบบสัมภาษณ์กี่งโครงสร้าง การประชุมกลุ่มย่อย การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาผลการวิจัยพบว่า (1)ชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ชุมชนมีบริบทที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น วิถีการดำรงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญคือ 1)ทรัพยากรป่าไม้หรือป่าชุมชน มีจำนวนหลายแปลง รวมเนื้อที่กว่า5,654 ไร่ ซึ่งมีความหลากหลายของประเภทป่าทั้งพื้นที่เพื่ออนุรักษ์ การหาอยู่หากินและป่าทางวัฒนธรรม ทั้งเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติและรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ 2)สำนักสงฆ์ถ้ำเสี่ยงของ ที่เป็นสถานปฏิบัติธรรมศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งภายในและนอกชุมชนอย่างมาระยะเวลากว่า 55 ปี มีการสร้างเสนาสนะหลายรายการจากความศรัทธาของชุมชนแต่ละยุคสมัย และปัจจุบันชุมชนจัดทำข้อมูลรายงานสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนจัดตั้งเป็น “วัด” กับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสกลนคร 3)การพัฒนารูปแบบเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปอาหาร ที่สร้างความมั่นคงทางอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อจำหน่ายสร้างอาชีพเสริมได้ และ4)วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ผ่านปรากฏการณ์และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ บ้านไม้โบราณ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ต้นศรีมหาโพธิ์อายุ 200 ปี (2)ส่วนการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม และจัดทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนและปุ๋ยชีวภาพ หมู่ที่ 15 มีแนวทางร่วมกันเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวคือ 1)การเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ ฐานข้อมูลชุมชนหรือบริบทชุมชนด้านการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำคู่มือการท่องเที่ยว 2)การพัฒนาสื่อเพื่อการเผยแพร่ ภายใต้ชื่อเพจ“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหลุบเลานาจ่า”เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ตลอดทั้งงานวิจัยหรืองานบริการวิชาการที่ผ่านมา 3)การสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาและบริการวิชาการด้านต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง และ 4)การพัฒนากลไกตลาด สถานที่ขายสินค้าและบริการต่างๆ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค และเครือข่ายพันธมิตรทั้งระดับแนวราบและแนวดิ่ง สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น จากการวิจัยครั้งนี้เป้าหมายเชิงการพัฒนาคือ ชุมชนมีศักยภาพที่เอื้อต่อการจัดการท่องเที่ยวได้ สามารถที่จะสร้างรายได้บนพื้นฐานศักยภาพที่มี และเกิดการอนุรักษ์ฟื้นภูมินิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำหนองหารทั้งระบบได้ และข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไปคือ เน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนและการขยายเครือข่ายทั้งภายในและนอกชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานต่อไป

ทุนวิจัยงบรายได้
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
การพัฒนาชุมชน
-
-
ภูมินิเวศพื้นที่ต้นน้ำหนองหาร, การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน,ศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน,ชุมชนหลุบเลา

เจ้าของผลงาน
อาจารย์ภัชราภรณ์ สาคำ
นางสาวปฏิมาภรณ์ กังวานศรีเพชร

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
อาจารย์ภัชราภรณ์ สาคำ เเละ นางสาวปฏิมาภรณ์ กังวานศรีเพชร . (2563). ภูมินิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำหนองหาร:การศึกษาบริบทและพัฒนาศักยภาพการจัดการ ท่องเที่ยวโดยชุมชน กรณีศึกษาชุมชนหลุบเลา ตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.