หลักการอัดประจุแบตเตอรี่,มาตรฐานการอัดประจุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, สถานีอัดประจุแบตเตอรี่
โครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาพัฒนาและสร้างสถานีอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วหลายมาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานจริงและตอบสนองต่อระเบียบวาระแห่งชาติในเรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่”ที่ต้องการเพิ่มสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ให้มีจำนวน 690 สถานี ภายในปี พ.ศ.2579 เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มถึง 1.2 ล้านคัน ในอนาคต โดยขั้นตอนแรกได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีการชาร์จในแต่ละมาตรฐานเพื่อทำการออกแบบเครื่องอัดประจุแบตเตอรี่ และสถานีบริการอัดประจุแบตเตอรี่ให้เหมาะสมสำหรับการจัดสร้างในพื้นที่ใช้งานของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จากนั้นได้จำลองรูปแบบของความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าของสถานีอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วหลายมาตรฐาน เมื่อมีการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่าย 22 kV ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในขั้นตอนถัดมาได้ดำเนินการสร้างสถานีอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วหลายมาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าตามที่ได้ทำการออกแบบไว้ และทดสอบประเมินประสิทธิภาพเครื่องอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วที่สร้างขึ้น ขั้นตอนสุดท้ายปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องที่ได้จากการทดสอบ และพัฒนาให้เครื่องอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วหลายมาตรฐานที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสถานีอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วหลายมาตรฐานที่สร้างขึ้นนี้จะมีความหลากหลายของหัวชาร์จที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อต่าง ๆ ได้ ผลที่ได้จะสามารถลดปัญหาความแตกต่างของหัวชาร์จที่มีหลายมาตรฐานในปัจจุบัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าหลังจากการติดตั้งสถานีอัดประจุแบตเตอรี่แบบเร็วหลายมาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ใช้เป็นแนวทางและข้อแนะนำในการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าและเป็นสถานีต้นแบบของสถานีอัดประจุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็วหลายมาตรฐานที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้