การลดต้นทุนการผลิต ผลิตภัณฑ์จากยางพาราโดยใช้สารตัวเติมแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอย
แคลเซียมคาร์บอเนตความบริสุทธิ์สูง (CaCO3) ถูกสังเคราะห์จากเปลือกหอยเชอรี่ทำปฏิกิริยากับ กรดไฮโดรคลอริก (HCl) เพื่อเตรียมแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) จากนั้นนำ CaCl2 ที่ได้ไปผสมกับโซเดียมคาร์บอเนต (Na2CO3) เพื่อการตกตะกอนของเฟสแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีความบริสุทธิ์สูง นำไปวิเคราะห์โครงสร้างผลึกโดยเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์ โครงสร้างอะราโกไนต์และแคลไซต์วิเคราะห์โดยเครื่อง ฟลูเรียร์ทรานส์ฟอร์ม อินฟราเรดสเปคโทรมิเตอร์ (FTIR) ลักษณะทางสัณฐานวิทยาโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) ขนาดอนุภาคโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (TEM) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดแคลเซียมคาร์บอเนต แสดงเฟสเดียวโครงสร้างแบบ rhombohedral, a = b = 4.9976 Å, c = 17.0754 Å และขนาดอนุภาคน้อยกว่า 1.00 mm ซึ่งเราสามารถนำแคลเซียมคาร์บอเนตนี้มาประยุกต์ใช้เป็นสารตัวเติมกับผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ซึ่งงานวิจัยนี้มุ่งเน้นที่จะใช้แคลเซียมคาร์บอเนตที่สกัดจากเปลือกหอยเชอรี่ใช้เป็นสารตัวเติม ซึ่งปริมาณที่ใช้ประมาณ 30 - 50 % ต่อยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ เป็นการนำกระบวนการวิจัยจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการต่อยอดให้กับเกษตรกรในการทำธุรกิจขนาดย่อม (SME) ต่อไป