งานวิจัย ตัวแบบการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดสกลนครด้วยวิธีบอกซ์-เจนกินส์และวิธีการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ


ตัวแบบการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดสกลนครด้วยวิธีบอกซ์-เจนกินส์และวิธีการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างตัวแบบพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยรายเดือนในอำเภอที่ประสบภัยพิบัติ ด้วยวิธีวิเคราะห์อนุกรมเวลาแบบบอกซ์-เจนกินส์และวิธีวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ และ (2) เปรียบเทียบประสิทธิภาพการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยรายเดือนระหว่างวิธีวิเคราะห์อนุกรมเวลาแบบบอกซ์-เจนกินส์ กับวิธีวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณในอำเภอที่ประสบภัยพิบัติทางน้ำ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภออากาศอำนวย อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอเจริญศิลป์ โดยใช้ข้อมูลชุดที่ 1 คือ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยและข้อมูลอุตุนิยมวิทยาที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2546 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 จำนวน 157 คาบเวลา จากสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดสกลนคร เพื่อสร้างตัวแบบอนุกรมเวลาและสมการการถดถอยพหุคูณ เมื่อใช้ตัวแปรอิสระ ได้แก่ อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายเดือน ความกดอากาศเฉลี่ยรายเดือน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยรายเดือน ระยะเวลาที่มีแสงแดดในวันโดยเฉลี่ยรายเดือน และการระเหยน้ำเฉลี่ยรายเดือน และใช้ข้อมูลชุดที่ 2 คือ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 จำนวน 10 คาบเวลา เพื่อทดสอบความมีประสิทธิภาพของตัวแบบอนุกรมเวลาและสมการถดถอยพหุคูณของปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยรายเดือน ด้วยเกณฑ์ RMSE ต่ำสุด ผลการศึกษาพบว่า ตัวแบบที่เหมาะสมที่พยากรณ์ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยรายเดือนของอำเภออากาศอำนวย อำเภอวานรนิวาส และอำเภอพรรณนานิคม ใช้ตัวแบบเดียวกัน คือ ตัวแบบ SARIMA(0,1,1)12 เมื่อไม่มีค่าคงที่ ส่วนตัวแบบที่เหมาะสมสำหรับอำเภอสว่างแดนดินและอำเภอเจริญศิลป์ คือ RFSw = 374.39-0.966Sunshine-0.373Pressure+0.179Humidity และ RFCrs = 279.03-1.247Sunshine-0.272Pressure+0.107Humidity ตามลำดับ

ทุนวิจัยงบแผ่นดิน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณิตศาสตร์ประยุกต์
สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ
ตัวแบบการพยากรณ์, ปริมาณน้ำฝน, บอกซ์-เจนกินส์, การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ

เจ้าของผลงาน
ดร.ชนัญกาญจน์ แสงประสาน
-

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
ดร.ชนัญกาญจน์ แสงประสาน . (2561). ตัวแบบการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดสกลนครด้วยวิธีบอกซ์-เจนกินส์และวิธีการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.