ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมกับการสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจของผ้าย้อมคราม ในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมของผ้าย้อมครามที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม ได้แก่ การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participation observation) การสังเกตอย่างไม่มีส่วนร่วม การจัดเสวนากลุ่ม (focus group) และการพูดคุยสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) โดยคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informants) ของแต่ละชุมชนในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องกับประวัติชุมชน ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับภูมิปัญญาผ้าย้อมคราม ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะร่วมทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนผ้าย้อมคราม จำแนกได้เป็น 4 ประการ ได้แก่ 1) ลักษณะร่วมทางภูมินิเวศ ชาติพันธุ์ ภาษา 2) การประกอบอาชีพ 3) ความเชื่อและประเพณี 4) ลักษณะร่วมทางภูมิปัญญาผ้าย้อมคราม ด้านบทบาทของผ้าย้อมคราม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครมี 4 ประการ ได้แก่ 1) บทบาทในการแสดงอัตลักษณ์ของชาวสกลนคร 2) บทบาทในการเสริมสร้างรายได้ในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดสกลนคร 3) บทบาทการแสดงความภูมิใจในความเป็นท้องถิ่น 4) บทบาทในการแสดงพลังความเข้มแข็งของผู้หญิง ด้านการสืบทอดและการสร้างสรรค์ผ้าย้อมครามพบว่านับตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ชุมชนผู้ทอผ้าย้อมครามยังคงสืบทอดกระบวนการทอผ้าย้อมครามอย่างเหนียวแน่นและนำมาสร้างรายได้ให้กับครอบครัวรวมถึงชุมชน มีกระบวนการสร้างสรรค์ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างสรรค์ลวดลาย การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการสร้างสรรค์เรื่องเล่าประกอบการขาย