ผลของการใช้สมุนไพรชนิดต่างๆร่วมกับน้ำสกัดชีวภาพในการยับยั้งการเกิดโรคในลูกอ๊อดกบ
งานวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องโรคที่พบในลูกอ๊อดกบ โดยทำการศึกษา องค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกบ สาเหตุของการเกิดโรค และเพื่อศึกษาผลของการใช้ สมุนไพรชนิดต่าง ๆ ได้แก้ ใบมะระขี้นก ใบฝรั่ง ใบกระเพรา และ ใบมะยม ร่วมกับน้ำสกัด ชีวภาพ ในการยับยั้งการเกิดโรคในลูกอ๊อดกบ จากการศึกษาวิจัยทั้งหมด สรุปได้ดังนี้ การศึกษาองค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกบ ในจังหวัดสกลนคร โดยทำการสัมภาษณ์ แบบเจาะลึก (In-depth Interview) และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในชุมชนบ้านน้อยจอมศรี และ บ้านดอนตาลโง๊ะ อ.เมือง จ.สกลนคร พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะทำการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกบเป็น อาชีพหลัก ซึ่งบางครัวเรือนทำอาชีพนี้นานถึง 10 ปี ฤดูกาลในการเลี้ยงจะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม ของทุกปี โดยคัดพ่อแม่พันธุ์ อัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียเท่ากับ 1:1 จำนวน 20 คู่มาเพาะในกระชัง ขนาด 3x3 ตารางเมตร ระดับน้ำ10 เซนติเมตร โดยปล่อยพ่อแม่พันธ์ในช่วงเวลา 18.00 น. เมื่อ เวลา 06.00 น.จึงนําพ่อแม่พันธุ์ออกไปพักไว้ในบ่อดินส่วนไข่กบที่ได้รับการผสมแล้วจะเจริญเติบโต เป็นลูกอ๊อด ทำการอนุบาลด้วยอาหารเม็ดขนาดเล็ก จนลูกอ๊อด อายุ 21 วัน หลังจากนั้นลูกอ๊อดจะ เจริญเติบโตเป็นลูกกบ บางตัวจะเกาะตามขอบกระชังจึงทำการคัดเลือกไว้เลี้ยงในบ่อดินเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป ด้านการตลาด จะไม่พบปัญหาเนื่องจากจะมีลูกค้าทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดมา รับซื้อถึงหน้าฟาร์มตั้งแต่ลูกอ๊อดมีอายุ 13-21 วัน ราคากิโลกรัม 200-250 บาท การหาสาเหตุของการเกิดโรคในลูกอ๊อดกบ โดยทำการตรวจในห้องปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ การตรวจวิเคราะห์น้ำ จากบ่อเลี้ยงพบว่ามีปริมาณของแอมโมเนียไนโตรเจน (NH3-N)อยู่ในระดับที่ ไม่ปลอดภัยต่อลูกอ๊อด คือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.8 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งสูงเกินกว่าที่สัตว์น้ำจะทนได้ ซึ่ง ระดับที่สัตว์น้ำทนได้คือไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม/ลิตร (สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ , 2530) นอกจากนี้การตรวจตัวอย่างสัตว์น้ำที่มีอาการป่วย โดยเก็บจากพ่อแม่พันธุ์ และจากลูกอ๊อดกบ ผล การตรวจภายนอกพบอาการผิดปกติของสัตว์น้ำ คือ มีแผลสีแดงบริเวณขากบ แผลหลุมลึกที่ผิวหนัง ท้องบวม การตรวจภายในพบว่าท้องกบมีของเหลวสะสมในช่องท้องและเมื่อตรวจวิเคราะห์ โดย นำมาเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ TSA (Tryptic Soy Agar) และย้อมสีแกรมดูพบว่าเป็นกลุ่มของ แบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งลักษณะโคโลนีที่พบมีความแตกต่างกันออกไป การทดสอบเชื้อกับสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ได้แก่ มะระขี้นก ใบฝรั่ง กระเพรา และมะยมใน ห้องปฏิบัติการ พบว่าใบฝรั่งทำให้แบคทีเรียที่ทดสอบไม่สามารถเจริญเติบโตบนอาหารเลี้ยงเชื้อได้ เมื่อทำการทดลองเลี้ยงในฟาร์มโดยปล่อยลูกอ๊อดกบอายุ 3 วัน ในบ่อซีเมนต์กลม อัตราความ หนาแน่น 100 ตัว/ตารางเมตร ให้อาหารผสมสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ร่วมกับน้ำสกัดชีวภาพ โดยใช้น้ำ สกัดชีวภาพสเปรย์ทั่วบ่อทุกสัปดาห์ ผลปรากฏว่าบ่อที่เลี้ยงโดยใช้ใบฝรั่ง ร่วมกับน้ำสกัดชีวภาพ มี อัตรารอดและอัตราการเจริญเติบโตดีที่สุด และไม่พบว่ามีแผลหรืออาการผิดปกติของลูกอ๊อดกบ จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การใช้ใบฝรั่งร่วมกับน้ำสกัดชีวภาพสามารถยับยั้งการเกิด โรคในลูกอ๊อดกบได้ ดังจะเห็นได้จากปริมาณของโคโลนีเดี่ยว (Single colony) ของแบคทีเรียที่ไม่ สามารถเจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อ TSA (Tryptic Soy Agar) และจากอัตราการเจริญเติบโตและอัตรา การรอดสูงสุดของลูกอ๊อดกบที่ทดลองเลี้ยงในฟาร์ม