งานวิจัย การแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อการเกษตรที่เหมาะสมของชุมชนสังคมจังหวัดมุกดาหารด้วยนวัตกรรม


การแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อการเกษตรที่เหมาะสมของชุมชนสังคมจังหวัดมุกดาหารด้วยนวัตกรรม

โครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ สู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ในการส่งเสริมศักยภาพการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมสู่ความเข้มแข็งของชุมชน โดยการออกแบบ พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งมอบนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ได้แก่ รถเข็น/สถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบอบลมร้อนแบบพาราโบลาโดมพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมทั้งสร้างสถานที่ผลิตอาหารมาตรฐาน GMP อีกทั้งติดตามและประเมินการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจและกลุ่มอาชีพในพื้นที่ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ไทนาซิง กลุ่มอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาซิงแปรูปอ้อยกลุ่มผู้ปลูกมัลเบอร์รี่บ้านนาซิงแปรรูปจากหม่อน วิสาหกิจชุมชนปลอดภัยไทนาซิง วิสาหกิจชุมชนอาหารปลอดภัยไทท่าห้วยคำ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์บ้านเหล่าแขมทอง วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์และปลูกไม้ผลบ้านนายอ และกลุ่มแปรรูปกล้วยน้ำว้าบ้านเหล่าหมี ได้ดำเนินกิจกรรมที่ 1 การศึกษาบริบทของชุมชน สถานการณ์ปัญหาของกลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมที่ 2 การดำเนินการออกแบบและทดสอบนวัตกรรม กิจกรรมที่ 3 การดำเนินกิจกรรมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งมอบนวัตกรรมและกิจกรรมที่ 4 การติดตามผลการดำเนินการโครงการโดยการจัดประชุมกลุ่มย่อย/แบบประเมินเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งจากการดำเนินโครงการ พบว่า ในพื้นที่มีการนำนวัตกรรมรถเข็นสูบน้ำและสถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้งานส่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรในพื้นที่ อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายได้นำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับให้เข้ากับบริบทของชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในส่วนการส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยนวัตกรรมเครื่องอบลมร้อนแบบพาราโบลาโดมพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์เคลื่อนที่ได้ โดยพบว่าแต่ละกลุ่มได้มีการนำผลผลิตทางการเกษตรที่หลายหลายมาทำการอบ เช่น กล้วย เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อวัว มะม่วง กบ เขียด เป็นต้น และจากการประเมินรายได้ของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ในภาพรวมจากหมวดกำไรสุทธิจากการเกษตร หมวดกำไรสุทธิจากธุรกิจ หมวดสวัสดิการ/เงินช่วยเหลือ หมวดการเงิน เป็นต้น พบว่า รายได้เฉลี่ยก่อนเข้าร่วมโครงการเท่ากับ 4,196.59 บาทต่อคนต่อเดือน และหลังสิ้นสุดโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเท่ากับ 4,877.27 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 680.68 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.69 โดยผลจากการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม เพื่อของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิด ดังนี้ (1) เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ (Community Learning Space) ของชุมชนและภาคีเครือข่าย (2) ขยายเครือข่ายการทำงานและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเป้าหมายอย่างเป็นระบบภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน (3) สร้างชุมชนต้นแบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) ชุมชนรับและปรับใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมจากนักวิจัย ร่วมวิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนานวัตกรรม สู่การที่ชุมชนนำไปปรับ ประยุกต์ ใช้ในการพัฒนาอย่างเหมาะสม (5) สร้างความมั่นคง สร้างอาชีพ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ (6) เกิดนวัตกรรมการบริการสู่การผลิตสินค้าสู่มูลค่าสูง ส่งเสริมการจำหน่ายของประกอบการเพิ่มขึ้น และ (7) ชุมชนเกิดแนวโน้มการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน เมื่อวิเคราะห์การดำเนินโครงการภายใต้แต่ละกิจกรรม พบว่า โครงการนี้สามารถตอบโจทย์การต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือการแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมทั้งส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดี เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดความเหลื่อมล่ำด้วยการพัฒนาศักยภาพคน ตลอดจนเกิดเป็นชุมชนต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป

ทุนภายนอก
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ฟิสิกส์
สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
การบริหารจัดการน้ำ, การเกษตร, พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์, เครื่องอบลมร้อนพาราโบลาโดม, การแปรรูปผลผลิตทางเกษตร, การบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน

เจ้าของผลงาน
ทศวรรษ สีตะวัน
ก้องภพ ชาอามาตย์, ครรชิต สิงห์สุข, อาจศึก มามีกุล, ลฎาภา ศรีพสุดา, หรรษกร วรรธนะสาร, วัสยษฏิ์ อนันต์ปรีชากร, แสนสุรีย์ เชื้อวังคำ, ธนกร ราชพิลา, ศักดิ์ดา แสนสุพรรณ, อัสฉรา นามไธสง

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
ทศวรรษ สีตะวัน ,ก้องภพ ชาอามาตย์, ครรชิต สิงห์สุข, อาจศึก มามีกุล, ลฎาภา ศรีพสุดา, หรรษกร วรรธนะสาร, วัสยษฏิ์ อนันต์ปรีชากร, แสนสุรีย์ เชื้อวังคำ, ธนกร ราชพิลา, ศักดิ์ดา แสนสุพรรณ เเละ อัสฉรา นามไธสง . (2565). การแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อการเกษตรที่เหมาะสมของชุมชนสังคมจังหวัดมุกดาหารด้วยนวัตกรรม. มุกดาหาร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.
สถิติการเข้าชม