งานวิจัย การพัฒนาศักยภาพชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศหนองหาร กรณีบ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร


การพัฒนาศักยภาพชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศหนองหาร กรณีบ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร

โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทของชุมชน และบริบทระบบนิเวศหนองหาร หมู่บ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร 2) วิเคราะห์ศักยภาพของชุมชน และศักยภาพระบบนิเวศหนองหารที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศหนองหาร หมู่บ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร และ 3) พัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศหนองหาร ตามแนวทางศาสตร์พระราชา หมู่บ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพบูรณาการหลายสาขาวิชาแบบสหวิทยาการ เป็นการศึกษาในภาคสนาม การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ การจัดเวทีระดมความคิดเห็นแบบมีส่วนร่วม และโดยเฉพาะผู้วิจัยเน้น “ชุมชนปฏิบัติการ” ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราชาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศหนองหาร ผลการวิจัยพบว่า 1. บริบทชุมชนบ้านน้ำพุ บ้านน้ำพุ หมู่ 4 ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และอยู่ห่างจากอำเภอโพนนาแก้ว ประมาณ 15 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสกลนคร ประมาณ 37 กิโลเมตร สภาพทั่วไปของบ้านน้ำพุถูกล้อมรอบด้วยทุ่งนา พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม และลาดชันจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกซึ่งเป็นเขตหนองหาร ส่งผลให้บ้านน้ำพุมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็จะท่วมถึงพื้นที่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกข้าว เพราะมีน้ำใช้ในการทำนาตลอดทั้งปี นอกจากนี้พื้นที่บ้านน้ำพุยังมีเขตป่าไม้ชุมชนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในบริเวณโคกดอนปู่ตา โคกห้วยเรือ และโคกโพธิ์ ทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณบ้านน้ำพุยังมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ พืชสมุนไพร และอาหารการกินทั้งพืชผักและสัตว์ บ้านน้ำพุมีพื้นที่ประมาณ 5,070 ไร่ ลักษณะดินในพื้นที่บ้านน้ำพุมีลักษณะดินร่วนปนหินลูกรังมีการระบายน้ำได้ดีแต่ไม่อุ้มน้ำ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ในช่วงฤดูแล้งสภาพพื้นที่จะมีสภาพแห้งแล้งมากทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดูกาล สถานที่สำคัญ ได้แก่ บ้านฮ้าง เป็นสถานที่ตั้งของบ้านซ่งน้ำพุตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย โดยตั้งอยู่ติดริมฝั่งหนองหารทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านน้ำพุในปัจจุบัน คูแกว ท่านางอาบ ดอนปู่ตา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านน้ำพุ โรงเรียนบ้านน้ำพุคุรุราษฎร์สงเคราะห์ วัดศรีสะอาด และมีสำนักสงฆ์ทุ่งฐาน พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านน้ำพุอยู่ติดกับหนองหารซึ่งมีพื้นที่ 77,016 ไร่ หรือ 123 ตารางกิโลเมตร ขอบเขตเหนือไปใต้อยู่ที่ 14 กิโลเมตร ส่วนตะวันออกไปตะวันตกอยู่ที่ 8 กิโลเมตร ครอบคลุมอำเภอเมืองสกลนคร และอำเภอโพนนาแก้ว หนองหารมีเกาะดอนอยู่จำนวน 52 ดอน ดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือดอนสวรรค์ ลำห้วย หนอง คลอง บึง ที่ไหลลงสู่หนองหารมีสายน้ำต่างๆ จำนวน 21 สาย สายที่ให้น้ำกับหนองหารมากที่สุดคือ ลำน้ำพุง นอกจากนี้หนองหารยังเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำ ซึ่งไหลจากประตูสุรัสวดีไปปากลำน้ำก่ำ ประมาณ 95 กิโลเมตร ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ปัจจุบันน้ำหนองหารเน่าเสียและมีมลพิษมาก หมู่บ้านรอบหนองหารมีอยู่ทั้งสิ้น 36 ชุมชน สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในหนองหาร ประกอบด้วย ปลา 133 ชนิด พืชพรรณไม้ และวัชพืชใต้น้ำ นอกจากนั้นยังมีนกปากห่าง นกเหก งู หนู กุ้ง วัว ควาย และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ 2. การวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน และศักยภาพระบบนิเวศหนองหาร ได้แก่ ข้อดี หมู่บ้านมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่ ดอนปู่ตา น้ำพุธรรมชาติ หนองหาร คูแกว ท่านางอาบ บ้านฮ้าง แปลงเกษตรลอยน้ำ สะพานเดินชมธรรมชาติซึ่งภูมิทัศน์มีความสวยงาม รอยพระพุทธบาท วัตถุโบราณ ป่าโคกและหนองหารเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์หรือซูเปอร์มาเกตของชุมชนและเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มองค์กรมีความเข้มแข็ง ได้แก่ ร้านค้าประชารัฐ กองทุนหมู่บ้าน ฉางข้าว แปลงเกษตรลอยน้ำ และกลุ่มดนตรีพื้นเมือง รวมถึงกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ กลุ่มเย็บปักถักทอ และกลุ่มย้อมสีธรรมชาติ ข้อเสีย ขาดการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือน มีการว่างงานของทุกกลุ่มคนในหมู่บ้าน ขาดแคลนน้ำประปา น้ำในห้วย หนอง คลอง บึงแห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง การทำนาส่วนใหญ่ยังใช้ปุ๋ยเคมีและใช้ยาฆ่าหอยเชอรี่ทำให้ยาไหลลงสู่แหล่งน้ำและพื้นที่นาลุ่ม และชาวบ้านกว่าร้อยละ 95 มีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ โอกาส หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนให้การสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ในรูปแบบของการให้ความรู้ การฝึกปฏิบัติงานอาชีพ วัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณ นอกจากนี้กระแสการเดินทางเพื่อศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และอุปสรรค หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจให้การสนับสนุนกิจกรรม ของชุมชนไม่ต่อเนื่อง ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และจัดให้มีการโครงการส่งเสริม สนับสนุนให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาที่ทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน ทำให้ชาวบ้านต้องแบ่งกันไปร่วมกิจกรรม จึงส่งผลให้ผลการดำเนินกิจกรรมไม่ได้รับผลสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนี้ระดับน้ำในหนองหารขึ้นลงตามระดับการเก็บกักน้ำของเขื่อน และระบบน้ำประปาในเขตพื้นที่เมืองสกลนคร ชาวบ้านไม่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ 3. ผลการพัฒนาศักยภาพ ทำให้เกิด 1) แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศหนองหาร ประกอบไปด้วย 4 กิจกรรม ดังนี้ (1.1) การจัดการปัญหาวัชพืชปิดล้อมชายฝั่งหนองหารด้วยแปลงเกษตรลอยน้ำ (1.2) การเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียงบนคันคูพืชผักสวนครัว สมุนไพร ปลูกเห็ด การเลี้ยงปลา และเรือนเพาะชำ (1.3) การเดินสะพานชมธรรมชาติและศึกษาระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม และ (1.4) การเรียนรู้เกาะดอนรอบหนองหาร ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ตั้งแต่การใช้ประโยชน์ของพื้นที่หนองหารในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ รวมถึงความเข้มแข็งของชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้ง 4 กิจกรรมนี้ก่อให้เกิดการเรียนรู้รากเหง้า คุณค่า เกิดความรัก ความตระหนัก ก่อให้เกิดพลังร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาท้องถิ่นตนเอง ด้วย “การระเบิดจากภายใน” ที่สอดคล้องกับแนวทางการดำรงชีวิตตามศาสตร์พระราชา 2) ฐานการเรียนรู้ศักยภาพชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราชา ประกอบด้วย 3 กิจกรรมการเรียนรู้ คือ (1) ป่าโคกซูเปอร์มาเกตชุมชนที่พึ่งพิงอาหารการกินตลอดกาล (2) แนวทางการบริหารจัดการองค์กรภายในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ เช่น กองทุนแม่ของแผ่น กองทุนฉางข้าว ร้านค้าประชารัฐ และ (3) เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนโบราณผ่านเรื่องเล่า สถานที่สำคัญ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินของชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการบริหารจัดการองค์กรท้องถิ่นภายในชุมชนที่สามารถช่วยเหลือ เกื้อกูล และแฝงความเคารพต่อบรรพบุรุษ ธรรมชาติ และการเคารพสิทธิการอยู่ร่วมกัน และการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนอย่างเป็นธรรมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นระบบการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และศาสตร์พระราชาอย่างแท้จริง และ 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดเป็นกิจกรรมที่ทำให้ชุมชนตระหนักและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ทั้งการทอผ้า การทอเสื่อ และการจักสาน อันเป็นภูมิปัญญาที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต รากเหง้าของชุมชน และบรรพบุรุษ การฟื้นฟูภูมิปัญญาดังกล่าวนอกจากเป็นการสร้างคุณค่าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แก่ชุมชนอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นภายใต้การน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่น
วิทยาการจัดการ
วิชาชีพครู
สาขาสังคมวิทยา
การบริหารจัดการการท่องเที่ยว
การพัฒนาศักยภาพชุมชน, ศาสตร์พระราชา, ระบบนิเวศ, หนองหาร

เจ้าของผลงาน
ปูริดา วิปัชชา
สมพงษ์ กล่อมใจ, เตียม ปุ่งคำน้อย บ้านน้ำพุ, เยาวลักษณ์ ศรีเภ, สมพงษ์ ด่านทองศรี, ไมตรี ดวงเคน , ปรมี โพยพา

เอกสาร

บรรณานุกรม APA
ปูริดา วิปัชชา ,สมพงษ์ กล่อมใจ, เตียม ปุ่งคำน้อย บ้านน้ำพุ, เยาวลักษณ์ ศรีเภ, สมพงษ์ ด่านทองศรี, ไมตรี ดวงเคน เเละ ปรมี โพยพา . (2563). การพัฒนาศักยภาพชุมชนตามแนวทางศาสตร์พระราช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศหนองหาร กรณีบ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.